วันพุธที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

อบจ.ภูเก็ตปลูกสำนึกเยาวชนร่วมคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางช่วยลดขยะที่ต้องทิ้งในแต่ละวัน


อบจ.ภูเก็ต ส่งเสริมเยาวชนบริหารจัดการขยะในชุมชนหวังลดปริมาณขยะในพื้นที่ แนะการคัดแยกขยะจะเหลือขยะที่ต้องทิ้งจริงๆ เพียงแค่ 10% เท่านั้น

นายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต กล่าวในระหว่างเป็นประธานเปิดการฝึกอบรมเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทสม.น้อย) รุ่นที่ 4 ณ ห้องประชุมโรงเรียนบ้านกะตะ ตำบลกะรน อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต วันที่ 5ก.ค.54 ซึ่ง อบจ.ภูเก็ต จัดขึ้นเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้กับเด็กและเยาวชน โดยเน้นการคัดแยกขยะจากแหล่งกำเนิดจากชุมชน โดยเฉพาะขยะอินทรีย์และขยะรีไซเคิลออกจากขยะทั่วไปว่า

“จังหวัดภูเก็ตมีการพัฒนาเมืองอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะด้านอสังหาริมทรัพย์และด้านธุรกิจการท่องเที่ยว ในแต่ละปีรัฐบาลได้มีนโยบายที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้นักท่องเที่ยว เข้ามาเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตมากขึ้นเรื่อยๆ โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาจังหวัดภูเก็ตปีละไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน ซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้จะมีการขยายสนามบินเพิ่มขึ้น มีการก่อสร้างศูนย์ประชุมนานาชาติ และโครงการพัฒนาอื่นๆ ตามมามากมาย ซึ่งจะส่งผลให้มีการโยกย้ายถิ่นฐานของประชากรในประเทศเข้ามาอาศัยอยู่ในจังหวัดภูเก็ตเพิ่มมากขึ้น”

เมื่อมีคนเข้ามามาสิ่งหนึ่งที่จะเป็นปัญหาตามมา คือ เรื่องของปัญหาขยะ จะเห็นว่า ที่ใดที่มีคนอาศัยอยู่มากๆ ก็จะมีขยะมากตามไปด้วย เนื่องจากทุกคนมีการจับจ่ายใช้สอยซื้อหาอาหารเมื่อเหลือจากการใช้ประโยชน์ส่วนหนึ่งก็จะกลายเป็นขยะ ทุกคนจะทิ้งขยะหรือสิ่งของที่คิดว่าไม่มีประโยชน์สำหรับตนทุกวัน โดยไม่มีการคัดแยกหรือนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น ขยะก็จะล้นเกาะภูเก็ตในอีกไม่นานและในขณะนี้ หากเดินทางไปไหนในจังหวัดภูเก็ต ก็เริ่มจะเห็นว่ามีขยะตกค้างอยู่สองข้างถนนในจำนวนที่เพิ่มมากขึ้น ตนเชื่อว่าทุกคนคงไม่อยากเห็นสภาพเช่นนี้ และไม่อยากให้นักท่องเที่ยวเห็นสิ่งที่ไม่สวยงามของจังหวัดภูเก็ตในส่วนนี้ด้วยเช่นกัน

นายไพบูลย์ กล่าวต่อว่า ปัญหานี้ตนเชื่อว่า แก้ได้ไม่ยาก หากทุกคน ทุกภาคส่วน ร่วมมือกันโดยเริ่มจากการคัดแยกขยะก่อนที่จะทิ้งลงถัง เพราะจากการวิเคราะห์องค์ประกอบของขยะในจังหวัดภูเก็ต พบว่า 60% เป็นขยะอินทรีย์ 34% เป็นขยะรีไซเคิล ส่วนที่เหลือเป็นขยะทั่วไปและขยะอันตราย ดังนั้นหากมีการคัดแยกขยะอย่างจริงจังจากแหล่งกำเนิด ก็จะเหลือขยะที่ต้องทิ้งลงถังไม่ถึง 10% ของปริมาณขยะทั้งหมด

สำหรับขยะที่ได้คัดแยกไว้ เช่น ขยะรีไซเคิล สามารถนำไปจำหน่ายเป็นรายได้ให้กับครัวเรือนได้และขยะอินทรีย์ สามารถนำไปแปรสภาพเป็นปุ๋ยหรือน้ำหมักชีวภาพเพื่อใช้ประโยชน์ได้ เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำไห้จังหวัดภูเก็ตมีความสะอาดและน่าอยู่ มากยิ่งขึ้น

แต่การจะทำเช่นนี้ได้จำเป็นต้องมีเครือข่ายทั้งภาคประชาชนและเยาวชนเป็นแกนนำในการถ่ายทอดความรู้ไปยังชุมชนและสถานศึกษาให้ครอบคลุมมากที่สุด จึงจำเป็นที่จะต้องเพิ่มพูนความรู้ให้กับเด็กและเยาวชนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตเพื่อนำไปถ่ายทอดต่อและปฏิบัติตามเชื่อว่าจะช่วยแก้ปัญหาขยะในภูเก็ตได้ในระดับหนึ่ง

ข้อมูลจาก...ผู้จัดการ ออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น: